loader image

มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
Alternative Energy Institute of Thailand Foundation

เอซ กรีน รีไซคลิง ลงนามข้อตกลงการวิจัยการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ร่วมกับห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งสหรัฐ

เอซ กรีน รีไซคลิง (ACE Green Recycling) หรือเอซ (ACE) และห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (NREL) ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (CRADA) เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนต่ำของเอซ ซึ่งครอบคลุมการรีไซเคิลแกรไฟต์, ลิเธียมเหล็กฟอสเฟต (LFP) และวัสดุออกฤทธิ์แคโทดอื่น ๆ ความร่วมมือนี้ช่วยสานต่อความมุ่งมั่นและการลงทุนเชิงลึกของกระทรวงพลังงานสหรัฐในการพัฒนาวิธีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ยั่งยืน คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ

NREL ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโกลเดน รัฐโคโลราโด เป็นห้องปฏิบัติการระดับชาติของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพพลังงาน ด้วยเหตุนี้ NREL จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับใช้ความก้าวหน้าที่สำคัญด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่

ปริมาณของยานพาหนะไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ LFP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น เทสลา (Tesla) และฟอร์ด (Ford) เริ่มหันมาใช้แบตเตอรี่ LFP จากเดิมที่ใช้แบตเตอรี่นิกเกิลและโคบอลต์เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม การรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP ยังถือเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเนื่องจากความยากลำบากในการสกัดวัสดุที่มีค่า (ลิเธียมและแกรไฟต์) ออกมาให้ได้กำไร

คุณแอนดรูว์ คอลเคลเชอร์ (Andrew Colclasure) จาก NREL กล่าวว่า “วิธีการรีไซเคิลด้วยโลหวิทยาการละลายในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การสกัดวัสดุที่มีมูลค่าสูงจากแบตเตอรี่ LFP เช่น ลิเธียมและทองแดง เพื่อส่งเสริมแนวทางการรีไซเคิลแบบองค์รวมมากขึ้น เราจึงต้องคิดค้นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถรีไซเคิลวัสดุมูลค่าต่ำ เช่น แกรไฟต์และเหล็กฟอสเฟต ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมของเราเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อทำให้กระบวนการนี้ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ปัจจุบันเอซได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนสำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP ในขนาดสำหรับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายขนาดเพื่อให้ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ข้อตกลงการวิจัยนี้ NREL จะช่วยเหลือเอซในการประเมินกระบวนการเชิงพาณิชย์สำหรับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ LFP และอัปไซเคิลแกรไฟต์เป็นเกรดแบตเตอรี่

คุณวิปิน ทยาจิ (Vipin Tyagi) ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเอซ กรีน กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับทีมงานมากความสามารถจาก NREL ในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเชิงพาณิชย์ของเรา และช่วยให้สหรัฐก้าวสู่ห่วงโซ่อุปทานวัสดุแบตเตอรี่ภายในประเทศที่ยั่งยืน”

ภายใต้ส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ NREL จะให้ความช่วยเหลือในการผลิตเซลล์ การสร้างแบบจำลอง การวิเคราะห์ และมอบเครื่องมือขั้นสูงอื่น ๆ เพื่อสาธิตคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีของเอซในการทำงานขั้นต้นที่โรงงานของ NREL ในโคโลราโด โดยรวมแล้ว โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อระบุขอบเขตการรีไซเคิลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแบตเตอรี่ LFP และแกรไฟต์ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลจากเทคโนโลยีของเอซ เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน

ความเป็นไปได้ในการอัปไซเคิลแกรไฟต์โดยเทคโนโลยีของเอซสามารถช่วยแก้ปัญหาการพึ่งพาอิเล็กโทรดแกรไฟต์มากกว่า 60,000 ตันที่สหรัฐนำเข้าอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมและลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ ความร่วมมือของ NREL กับเอซสอดคล้องกับเป้าหมายของกฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อของสหรัฐ (Inflation Reduction Act) ที่มีการประกาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของกฎหมายดังกล่าวคือ สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับท้องถิ่นสำหรับวัสดุที่สำคัญภายในประเทศสหรัฐ

เกี่ยวกับเอซ กรีน รีไซคลิง

เอซ กรีน รีไซคลิง เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่จากสหรัฐ เป็นผู้พัฒนาโซลูชันแบบแยกส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและแบตเตอรี่กรดตะกั่วที่หมดอายุการใช้งาน ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยี เอซร่วมมือกับผู้เล่นทั่วทั้งอีโคซิสเต็มวัสดุแบตเตอรี่เพื่อสร้างโซลูชันแบบหมุนเวียนในท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุแบตเตอรี่ที่สำคัญยังคงอยู่ภายในประเทศที่สร้างขยะจากแบตเตอรี่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไม่มีความเห็นที่จะแสดง

ADIPEC 2024 bio-paraxylene BTMT CKP CKPower ENEOS Corporation HONGHUA GROUP IC&C Day 2024 Itawani Mitsubishi Corporation Neste PEA PET SCBX NEXT TECH Suntory Thailand Digital Outlook กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กรีน เยลโล่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5 ซันโทรี่ บริดจสโตน ไทร์ พลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น วารสาร สดช. สภากาชาดไทย ห้องเรียนสีเขียว อินโดรามา เวนเจอร์ส อิวาตานิ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เชลล์ เชลล์แห่งประเทศไทย เนสท์เล่ (ไทย) เนสท์เล่ อินโดไชน่า เนสเต้ เอเนออส โซลาร์เซลล์