loader image

มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
Alternative Energy Institute of Thailand Foundation

กฟผ. ชวนคนไทยร่วมรักษ์โลก ใช้ชีวิตติด ‘Neutral’ หนุนแก้ปัญหาโลกรวน ดึงกูรูสายกรีน ถกไอเดียเตรียมพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

กฟผ. ชวนคนไทยร่วมรักษ์โลก ใช้ชีวิตติด ‘Neutral’ หนุนแก้ปัญหาโลกรวน ดึงกูรูสายกรีน ถกไอเดียเตรียมพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

กฟผ. ชวนคนไทยร่วมปรับวิธีคิด ปรับพฤติกรรม ผนึกกำลังอนุรักษ์พลังงานพร้อมดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนโดยเริ่มจากตนเอง พร้อมขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในวันสิ่งแวดล้อมโลก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ. ประจำปี 2566 เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 ภายใต้แนวคิด “ชีวิตติด Neutral” สร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักรู้ให้กับคนไทยในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 โดยมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา นักเรียน นักศึกษา พนักงาน กฟผ. ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน ณ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย
จ.นนทบุรี

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางพลังงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาโลกรวน เพื่อปรับวิธีคิด และพฤติกรรม
เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ กฟผ. ได้ตั้งเป้าหมายนำพาองค์กรและประเทศบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” โดยได้ขับเคลื่อนองค์กรผ่านกลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การปรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ยืดหยุ่นและทันสมัยรองรับพลังงานหมุนเวียน ศึกษาเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำมาใช้ในอนาคต Sink Co-Creation เพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่ ในเวลา 10 ปี โดยร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน และSupport Measures Mechanism ดำเนินโครงการสนับสนุนให้สังคม มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย สร้างต้นแบบหอฟอกอากาศสำหรับชุมชนด้วยเทคนิคพลาสมาเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor for All ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่ติดตั้งบริเวณโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดกว่า 1,200 จุด ทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังให้ประชาชนสามารถวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศได้

สำหรับไฮไลต์ของงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ. ในปีนี้ คือ การจัดเสวนาในหัวข้อ “ปรับชีวิต พิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งได้รับเกียรติจากกูรูด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เผยว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายบรรลุ Nationally Determined Contributions (NDC) ในปี 2030 เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 โดยขับเคลื่อนผ่านแนวทาง 4 ด้าน คือ ด้านนโยบายและกฎหมาย ด้านการเงินและการลงทุน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และด้านการมีส่วนร่วม โดยพัฒนากลไกลตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เผยว่า แนวคิดพื้นฐานในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกสู่บรรลุเป้าหมาย คือ 1) ตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) ลดการปล่อยและผลิตคาร์บอนเครดิต โดยพัฒนาเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งจะได้ผลผลิตออกมาเป็นคาร์บอนเครดิต และ 3) นำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอน พร้อมเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พิธีกร นักจัดรายการช่อง The Standard เผยว่า ในฐานะสื่อมวลชน ต้องสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการย่อยข้อมูลให้ง่ายและรู้ว่าในแต่ละกิจกรรมที่ทำนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด พร้อมทั้งต้องนำเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมไปด้วยกัน

นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวเสริมว่า ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้ โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันง่าย ๆ ผ่าน กลยุทธ์ 4 ป. คือ 1) ปิดไฟ  2) ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา 3) ปลดปลั๊กไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้งาน และ 4) เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5  นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมรับมอบเครื่องหมาย Carbon Neutral Event จากนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองการจัดงานสิ่งแวดล้อม กฟผ. ว่ามีการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจนเป็นศูนย์ และเปิดตลาด “Living Neutral Fair” จำหน่ายสินค้าและอาหารรักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กว่า 30 ร้านค้า พร้อมกิจกรรม Workshop ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุรีไซเคิล และนิทรรศการให้ความรู้เพื่อพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไม่มีความเห็นที่จะแสดง

ADIPEC 2024 bio-paraxylene BTMT CKP CKPower ENEOS Corporation HONGHUA GROUP IC&C Day 2024 Itawani Mitsubishi Corporation Neste PEA PET SCBX NEXT TECH Suntory Thailand Digital Outlook กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กรีน เยลโล่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5 ซันโทรี่ บริดจสโตน ไทร์ พลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น วารสาร สดช. สภากาชาดไทย ห้องเรียนสีเขียว อินโดรามา เวนเจอร์ส อิวาตานิ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เชลล์ เชลล์แห่งประเทศไทย เนสท์เล่ (ไทย) เนสท์เล่ อินโดไชน่า เนสเต้ เอเนออส โซลาร์เซลล์