loader image

มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
Alternative Energy Institute of Thailand Foundation

“เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เชื่อมต่อทุกการเดินทางอย่างสมบูรณ์”

“เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เชื่อมต่อทุกการเดินทางอย่างสมบูรณ์”

กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ จังหวัดนนทบุรี กฟผ. และกรมเจ้าท่า เปิดท่าเรือพระราม 7 โฉมใหม่ ยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว คาดหากเปิดท่าเรืออัจฉริยะครบ 29 แห่งในปี 2570 จะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 53,000 คน/วัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 280,230 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 โดยมีนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมในพิธี ณ ท่าเรือพระราม 7 ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่าได้รับนโยบายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เดินหน้าสานต่อนโยบาย “คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ “ราชรถยิ้ม” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคม พร้อมช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กฟผ. ก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือพระราม 7 ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามุ่งมั่นดำเนินการก่อสร้างและพัฒนายกระดับท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบัน ได้ก่อสร้างและพัฒนาแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า และพระราม 7 ส่วนท่าเรืออีก 17 แห่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 คาดในปีดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการท่าเรืออัจฉริยะทั้งหมด 29 แห่ง เฉลี่ยจำนวน 53,000 คน/วัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 280,230 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เสริมว่า โครงการ “ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7” เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกรมเจ้าท่า ภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่บางกรวยให้เป็นเมืองที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชนแบบ New Normal โดยนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาผสานเข้ากับระบบคมนาคมทางน้ำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง ภายใต้แนวคิด 5 Smart ประกอบด้วย 1) Smart Energy ประยุกต์ใช้นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อยกระดับให้ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และ ควบคุมการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ 2) Smart Safety ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในท่าเรือ อาทิ กล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย ระบบเตือนภัยคนตกน้ำ 3) Smart Lighting ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น 4) Smart Digitalization ระบบข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และ 5) Smart Service ตรวจสอบข้อมูลการเดินเรือ ข่าวสาร และสถานที่ที่น่าสนใจใน อ.บางกรวย ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Pier รวมถึงการให้บริการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และตู้ชาร์จอัจฉริยะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ด้านนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน มีท่าเรือสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัด และมีเกาะเกร็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมล่องเรือชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น การควบคุม และกำกับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทางน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

สำหรับท่าเรือพระราม 7 ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “ท่าเรือที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด” ใช้ปรากฎการณ์แสงสะท้อนกับผิววัสดุ ทำให้สีอาคารเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ภายในอาคารใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบนับจำนวนคนอัตโนมัติ รวมถึงการรองรับการเข้าถึงได้ของผู้ใช้บริการ อาทิ ทางลาดและห้องน้ำสำหรับผู้พิการ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะทางน้ำมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไม่มีความเห็นที่จะแสดง

ADIPEC 2024 bio-paraxylene BTMT EGAT ENEOS Corporation GISTDA HONGHUA GROUP IC&C Day 2024 Itawani Mitsubishi Corporation Neste PEA PET SCBX NEXT TECH Suntory Thailand Digital Outlook กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กรีน เยลโล่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5 ซันโทรี่ บริดจสโตน ไทร์ พลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น วารสาร สดช. สภากาชาดไทย ห้องเรียนสีเขียว อินโดรามา เวนเจอร์ส อิวาตานิ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เชลล์ เชลล์แห่งประเทศไทย เนสท์เล่ (ไทย) เนสท์เล่ อินโดไชน่า เนสเต้ เอเนออส โซลาร์เซลล์