บริษัท ลอนจี กรีน เอเนอร์จี เทคโนโลยี จำกัด (LONGi Green Energy Technology Co., Ltd) บริษัทเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำระดับโลก ประกาศว่า บริษัทได้สร้างสถิติใหม่ของโลกด้วยการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ (Crystalline Silicon-Perovskite Tandem Solar Cell) ที่มีค่าประสิทธิภาพ 33.9% ทำลายสถิติโลกก่อนหน้านี้ที่ระดับ 33.7% ซึ่งทำไว้โดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลลาห์ (KAUST) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้
รายงานการรับรองล่าสุดของห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NREL) ระบุว่า เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ ที่พัฒนาขึ้นอย่างอิสระโดยลอนจี ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศจีน มีค่าประสิทธิภาพสูงถึง 33.9% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในโลกในขณะนี้ โดยความสำเร็จครั้งสำคัญของลอนจีถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุด หลังจากที่มีการประกาศค่าประสิทธิภาพ 31.8% ในงาน SNEC 2023 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม และ 33.5% ในงาน InterSolar Europe 2023 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน
ค่าประสิทธิภาพ 33.9% ที่สร้างสถิติใหม่นั้น ก้าวข้ามขีดจำกัดประสิทธิภาพทางทฤษฎี Shockley-Queisser (S-Q) ซึ่งจำกัดไว้ที่ 33.7% สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิงเกิลจังก์ชันเป็นครั้งแรก นับเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ ที่เหนือกว่าเซลล์แสงอาทิตย์ผลึกซิลิคอนแบบซิงเกิลจังก์ชันในแง่ของประสิทธิภาพ
ดร. ซีเซียง สวี่ (Xixiang Xu) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และรองประธานสถาบันวิจัยและพัฒนากลางลอนจี (LONGi Central R&D Institute) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ลอนจีได้ประกาศว่าค่าประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ซิลิคอนแบบเฮเทอโรจังก์ชันของบริษัทสูงเกิน 26.81% ซึ่งสร้างสถิติโลกสำหรับเซลล์ผลึกซิลิคอนแบบซิงเกิลจังก์ชัน ส่วนในครั้งนี้ ทีมวิจัยและพัฒนาได้สร้างสถิติใหม่ของโลกสำหรับค่าประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ ซึ่งหมายความว่าลอนจีครองสถิติโลกทั้งสองรายการ นอกจากนี้ สถิติใหม่ของโลกที่ระดับ 33.9% ยังถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทสัญชาติจีนสามารถทำลายสถิตินี้ได้ นับตั้งแต่มีการบันทึกค่าประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ ในปี 2558
คุณเจินกัว หลี่ (Zhenguo Li) ผู้ก่อตั้งและประธานของลอนจี กล่าวว่า ค่าประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์คือตัวบ่งชี้หลักและเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้ เซลล์ผลึกซิลิคอนแบบซิงเกิลจังก์ชันที่เป็นเทคโนโลยีกระแสหลักและครองส่วนแบ่งมากกว่า 90% ในตลาด จึงมีการปรับปรุงค่าประสิทธิภาพอย่างไม่หยุดยั้ง จนเข้าใกล้ขีดจำกัดประสิทธิภาพทางทฤษฎีที่ระดับ 29.4% มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ขีดจำกัดประสิทธิภาพทางทฤษฎีของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ สามารถสูงถึง 43% จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นโซลูชันกระแสหลักที่จะทะลุขีดจำกัดประสิทธิภาพของเซลล์ผลึกซิลิคอนแบบซิงเกิลจังก์ชัน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงรุ่นต่อไป ซึ่งหมายความว่าในบริเวณเดียวกันและดูดซับแสงเท่ากัน เซลล์แสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
คุณหัว เจียง (Hua Jiang) รองเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์แห่งประเทศจีน (CPIA) กล่าวว่า การที่ลอนจีสามารถสร้างสถิติโลกครั้งใหม่ด้วยค่าประสิทธิภาพ 33.9% นั้น แสดงให้เห็นว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน-เพอรอฟสไกต์ของลอนจีอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก พร้อมกับระบุว่า อุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นต้นทุน ดังนั้น การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพจึงเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการแปลงพลังงานของเซลล์แสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) และเมื่อเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงนี้สามารถผลิตในปริมาณมากได้อย่างแท้จริง ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ลงได้อย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการเติบโตของตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ของจีนและทั่วโลก ซึ่งการเติบโตของตลาดเซลล์แสงอาทิตย์จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลกในที่สุด
คุณเจินกัว หลี่ กล่าวเสริมว่า ลอนจีติดตามการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ตลอดจนยึดมั่นในการลดต้นทุน การปรับปรุงประสิทธิภาพ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเสมอมา “ลอนจีทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสำรวจเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาโดยตลอด เราได้บุกเบิกเทคโนโลยีมากมายในด้านการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลานานแล้ว ตลอดจนร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อสร้างแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพและกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน ไม่เพียงเพื่อสร้างจุดแข็งที่เปรียบเสมือน “เกราะป้องกัน” ของลอนจีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถก้าวข้ามวงจรการพัฒนาของอุตสาหกรรมได้อีกด้วย นอกจากนี้ ผมขอเรียกร้องให้ทั้งอุตสาหกรรมกลับสู่เส้นทางหลักของการแข่งขันทางเทคโนโลยี และส่งเสริมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของจีนให้เป็นผู้นำโลกต่อไปด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง”
ใส่ความเห็น