อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกทุกวันนี้มีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง ผู้ผลิตต้องปรับตัวให้ทันกฎระเบียบของภาครัฐในแต่ละประเทศ สนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โจทย์และความท้าทายเหล่านี้จึงต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญอย่าง “เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนโฉมตลาดพลังงานในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าที่ทั้งตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค |
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดไฟฟ้าเสรี โดยมีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมด้วย เช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ผ่านระบบออนไลน์ที่ผู้ซื้อไฟสามารถเปรียบเทียบแพ็กเกจและเลือกผู้ขายไฟฟ้าได้โดยตรง รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรง เพื่อจับคู่ข้อเสนอด้านราคาและเงื่อนไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาและบริการ จึงส่งผลดีต่อผู้บริโภคในทางอ้อม อีกทั้งยังช่วยบริหารความเสี่ยงหรือจัดการความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในระบบทั้งในฝั่งของผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้บริโภค ทั้งนี้ผู้ประกอบการในตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่จำนวนมากจำเป็นต้องแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อการเติบโตของตลาดในหลายๆ ด้าน |
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาด 768 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ และธุรกิจขายไฟฟ้าในตลาดเสรี Electric Reliability Council of Texas (ERCOT) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนการผลิตและขายไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด และเทรนด์พลังงานในอนาคต มาใช้ในกระบวนการต่างๆ |
กิรณ ลิมปพยอม หัวเรือใหญ่แห่ง BPP เผยว่า “หนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจผลิตไฟฟ้าในวันนี้และอนาคตให้ประสบความสำเร็จ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง BPP นำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ครบวงจรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขายไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Wholesale) ตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงการซื้อ-ขายไฟฟ้า (Power Trading) ทำให้สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatts) อย่างต่อเนื่อง” |
ตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT ในรัฐเท็กซัสที่มีประชากรราว 30 ล้านคน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งผลให้สามารถขยายฐานลูกค้า ช่วยเพิ่มปริมาณขายไฟฟ้า และกำไรในอนาคต |
ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรีนำเทคโนโลยี AI ที่มีศักยภาพ และความแม่นยำ มาใช้ในการจัดเก็บ วิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในการทำการตลาดกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล |
พรประนด ดิษยบุตร์ Chief Executive Officer – BPPUS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BPP ถือหุ้นร้อยละ 100 ผู้คร่ำหวอดในตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ กว่า 22 ปี เสริมว่า “นอกจาก BPP จะใช้ซอฟต์แวร์จำนวนมากในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าในตลาด (Power Supply) ในอนาคต เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรายังพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ โดยนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของลูกค้า เพื่อออกแบบแพ็คเกจบริการต่างๆ ในราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งนำข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะจากโซเชียลมีเดียและดิจิทัลมีเดียมาประมวลผล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พัฒนากิจกรรมทางการตลาดให้น่าสนใจและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในอนาคตอีกด้วย” |
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ก็มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ของ BPP ในสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบดิจิทัลที่ทันสมัย ทำให้ปรับระดับกำลังผลิตไฟฟ้าได้อย่างยืดหยุ่นภายในระยะเวลาอันสั้น สามารถส่งมอบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนำระบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถบันทึก ตรวจสอบ และควบคุมการปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้าได้ดีกว่าที่มาตรฐานกำหนด และใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงร้อยละ 50 |
“โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งของ BPP ตอบโจทย์การสร้างเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในระบบด้วยความสามารถในการปรับตัวตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างรวดเร็ว ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า และร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม” พรประนด เผยเพิ่มเติม |
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานให้เติบโต ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สอดรับทิศทางพลังงานโลก หรือ “เทรนด์ 3D” ประกอบด้วย รูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวมากขึ้น (Decentralization) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ (Digitalization) และการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Decarbonization) |
“BPP พร้อมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยควบคู่กับการพัฒนาคน ครอบคลุมประเทศยุทธศาสตร์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายใน BPP Ecosystem เช่น จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ด้วยการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้า เพื่อผนึกกำลัง และเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจของ BPP ให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับเทรนด์พลังงานแห่งอนาคต” กิรณ กล่าวทิ้งท้าย |
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com |
ใส่ความเห็น