มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
Alternative Energy Institute of Thailand Foundation

กฟผ. ดึงภาคีเครือข่ายถกแก้ปัญหาโลกร้อน ลดฝุ่น PM2.5 พร้อมชูแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองด้วย Big Data มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

กฟผ. ดึงภาคีเครือข่ายถกแก้ปัญหาโลกร้อน ลดฝุ่น PM2.5 พร้อมชูแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองด้วย Big Data มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

กฟผ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Net Zero) พร้อมเปิดตัวระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล (Mae Moh City Data Platform) เป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม PM2.5 และการจัดการเมืองสู่ความยั่งยืน โดยใช้อำเภอแม่เมาะเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่ พร้อมขยายผลสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล (Mae Moh City Data Platform) โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนางลิสา เอ. บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ นายจักรพงษ์ แย้มยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. และผู้บริหารเข้าร่วมงาน ณ กฟผ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงทางออกวิกฤติหมอกควันของประเทศไทยว่า ปัจจุบันปัญหาหมอกควันในประเทศไทยเริ่มทวีความรุนแรงในวงกว้างซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อาทิ การเผา การสันดาปของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ดังนั้น เป้าหมายในการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนจึงต้องยึดหลักการสำคัญคือ ทำให้เมืองมีความปลอดภัย มีภูมิต้านทานที่ดี รวมถึงสร้างการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้ ซึ่งการสร้างเมืองน่าอยู่ต้องมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ประกอบด้วย ระบบการติดตามตรวจสอบ (Monitoring) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้าถึงง่ายในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ เช่น การพยากรณ์ค่าฝุ่นและมลพิษต่าง ๆ ทั้งจากชั้นบรรยากาศและแหล่งกำเนิด การส่งเสริมให้เกิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน รวมถึงมาตรการและนโยบายภาครัฐที่ต้องส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวและมาตรฐานที่ดีในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการประสานขอความร่วมมือจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชนในทุกมิติ

นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนผ่านการบูรณาการเทคโนโลยี Big Data ยังเป็นกลไกสำคัญในการเร่งผลักดันประเทศไทยให้สามารถรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคพลังงานสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงด้านนโยบาย รวมถึงผลักดันและสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

นางลิสา เอ. บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยในการก้าวสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้รับทุนจากองค์กรของสหรัฐอเมริกาในการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกาได้มองหาแนวทางใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคผ่านโครงการด้านพลังงานสะอาดและ Net Zero ของกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ วิกฤตหมอกควันส่งผลกระทบอย่างมากทั้งด้านสุขภาพของประชาชน รวมถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนสนับสนุนระบบดาวเทียมและเซนเซอร์วัดคุณภาพอากาศแก่มหาวิทยาลัยและนักวิจัยสำหรับติดตามค่าคุณภาพอากาศให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ได้

ด้าน นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวถึงการยกระดับเมืองสู่ Net Zero ด้วย City Data Platform ว่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยการพัฒนาระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล (Mae Moh City Data Platform) ซึ่งนำร่องในพื้นที่อำเภอแม่เมาะถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับเมืองสู่ Net Zero แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นการรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลเมืองด้านต่าง ๆ อาทิ คุณภาพอากาศ จุดความร้อนและไฟป่า พื้นที่สีเขียว ขยะและของเสีย น้ำ และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลจริงจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แบบเรียลไทม์ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองสำหรับประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารเมืองในการตัดสินใจทั้งการบริหารจัดการ การเตือนภัยและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับบริบทของการก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งพร้อมขยายผลไปสู่ระดับจังหวัดและเมืองต่าง ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “Clean Air Solutions to Net Zero: ถกทางออกเพื่อทุกลมหายใจ ในโลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” โดยมีนายสุรชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล นายอรรถวิท ขุนทอง ปลัดอำเภอแม่เมาะ นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ และนางปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ รองประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมเสวนา

คมกฤษ Avatar

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไม่มีความเห็นที่จะแสดง