ปตท.-พันธมิตรหนุน CAT-REAC industrial project

0
1610

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการชี้ทิศทางและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมีสำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (CAT-REAC industrial project)


คุณดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทพลังงานของชาติ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล “สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” จึงมีภารกิจในการวิจัย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย มานานกว่า 20 ปี ในชื่อเดิม “สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.” และเปลี่ยนเป็น “สถาบันนวัตกรรม ปตท.” ในวันนี้ โดยได้ดำเนินการวิจัยและทดสอบประเมินประสิทธิภาพตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับให้กับ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. และบริษัทในกลุ่มนับตั้งแต่ปี 2556 – 2560 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาจากต่างประเทศรวมถึงลดความสูญเสียเนื่องจากการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับที่มีประสิทธิภาพต่ำได้กว่า 240 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน สถาบันนวัตกรรม ปตท. ยังคงดำเนินการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“สถาบันนวัตกรรม ปตท. ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยจากการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับ โดยการนำร่องใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและอุตสาหกรรมเอทานอล ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่ง ปตท. ยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบ Open Innovation ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อันจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” คุณดวงพรกล่าว


นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือโครงการดังกล่าวจะช่วยให้GGC ได้รับสิทธิทางข้อมูลของการวิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการในภาพรวม ข้อมูลทิศทางการใช้ประโยชน์ไบโอดีเซล เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับผลิตภัณฑ์หลักคือ เมทิลเอสเทอร์ หรือไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจโอลีโอเคมีของประเทศ โดยปัจจุบัน GGC อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2บนพื้นที่ 30 ไร่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น ใช้เงินลงทุน 1,650 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี และเมื่อรวมกับโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 1 ที่จังหวัดระยอง GGC จะสามารถผลิตเมทิลเอสเทอร์ได้ถึง 500,000 ตันต่อปี