กระทรวงพลังงานจัดประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (Asian ministerial Energy Roundtable : AMER) ครั้งที่ 7 รวมสมาชิกผู้ซื้อขายพลังงาน และองค์กรชั้นนำด้านพลังงานระหว่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์และแนวทางไปสู่การปฏิบัติต่อสถานการณ์พลังงาน ด้านตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการก้าวไปสู่ทางเลือกพลังงานทดแทนโดยเฉพาะเทคโนโลยีในยุคเปลี่ยนผ่าน
พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม AMER7 ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญระดับเอเชียในการเป็น “พื้นที่หารือ” ร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกกว่า 36 ประเทศผู้ซื้อและผู้ขายพลังงาน รวมทั้งผู้นำองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศกว่า 20 องค์กรที่มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางออกสำหรับสถานการณ์พลังงานโลกในปัจจุบัน เพื่อการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานในอนาคต ซึ่งในครั้งนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “Global Energy Market Transition : From Vision to Action” หรือ การเปลี่ยนผ่านตลาดพลังงานโลก จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ
“สำหรับประเทศไทยนโยบายพลังงานของเราสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งข้อตกลงตามกรอบความร่วมมือ อาทิ EAS และ APEC ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ นโยบาย Energy 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการพระราชดำริในการส่งเสริมพลังงานทางเลือก แสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่ และสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นพลังงานทีมีมูลค่าสูง ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าประเทศไทยได้ค่อยๆ ดำเนินการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของเราไปสู่การปฏิบัติและได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
การประชุม AMER7 นี้จะได้ร่วมกันแสดงทัศนะต่อสถานการร์พลังงานในประเด็นสำคัญๆ 3 ด้าน คือ ตลาดน้ำมัน (Oil Market) ซึ่งจะหารือถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบเกิดขึ้นภายในทวีปเอเชียโดยตรง 2 ประเด็น เช่น การรวมตัวกันอย่างแนบแน่นเพิ่มขึ้นของชาติสมาชิกโอเปก ที่คาดว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิรัก และด้านกฏระเบียบใหม่ของประกาศช้น้ำมันคุณภาพสูงในการเดินเรือสมุทรระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมาณการใช้น้ำมัน โดยเฉพราะน้ำมันดีเซลคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น
ด้านตลาดก๊าซธรรมชาติ (Gas Market) จะพูดคุยถึงสถานการณ์เชื้อเพลิงก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG ซึ่งปัจจุบันตลาดการซื้อขายของ LNG จะมีลักษณะคล้ายกับตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น และจะเริ่มพัฒนาไปสู่ตลาดกลางการซื้อขาย LNG เกิดดัชนีราคากลาง เช่นเดียวกับตลาดน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติในเอชียจำเป็นต้องหารือร่วมกันถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การสร้างความสมดุลและเสถียรภาพของตลาดน้ำมันและตลาดก๊าซธรรมชาติดังกล่าว
ประเด็นสุดท้าย ด้านการเปลี่ยนรูปแบการใช้พลังงานสู่ทางเลือกพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน (Disruptive Technology) ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ จะเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งภายในการประชุม AMER ครั้งนี้ จะมีการพูดคุยใน 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การขับเคลื่อนเทคโนโลยียายนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการพัฒนาระบบการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งคาดว่าจะเป็นประเด็นที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ผลักดันนโยบายในเรื่องดังกล่าวต่อเนื่อง และประเทศไทยยังถือว่าเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของเอเชียที่ได้มีนโยบายพัฒนาที่ชัดเจน
ส่วนความเป็นมาของ AMER หรือ การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (ASIAN Ministerial Energy Roundtable นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือระหว่างประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้บริโภคพลังงานในภูมิภาคเอเชียในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตด้านการจัดหาและความต้องการด้านพลังงาน การหารือในประเด็นที่ท้าทายต่อความมั่นคงด้านพลังงานโดยให้ความสำคัญที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และการหารือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25-27 เมษายน 2552 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้นตอบรับตามคำเชิญของที่ประชุมในการเป็นเจ้าภาพร่วม (Co-host) สำหรับการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 6 ร่วมกับนครรัฐกาตาร์ พร้อมทั้งได้ตอบรับเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชียครั้งที่ 7 ที่ประเทศไทย ในปี 2560 โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพร่วม (Co-host)
นอกจากนี้ การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชียครั้งที่ 6 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ เมื่อวันที่ 7–10 พฤศจิกายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์) ได้เป็นหัวหน้าคณะในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งนครรัฐกาตาร์ (H.E. Dr. Mohammed bin Saleh Al-Sada) โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วม (Co-host) กับนครรัฐกาตาร์ และในปีนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2560