บอร์ด BOI ไฟเขียวส่งเสริมลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

0
1657

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา บอร์ดบีโอไอมีมติอนุมัติส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง HEV,  PHEV,  BEV และ Battery Electric Bus   โดย BEV ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากสุดถึง 10%  และหากตั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี  มั่นใจมาตรการที่ออกมาจะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น พร้อมผ่านแผนโรงไฟฟ้า 4 โรงกว่า 160,000 ล้าน

                 นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านพลังงานรวม  4 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 161,300 ล้านบาท ประกอบด้วยให้บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 59,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดชลบุรี และกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 58,800 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยองให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนส่งก๊าชธรรมชาติทางท่อ ระยะทางรวม 59 กิโลเมตรผ่านจังหวัด สระบุรี ชลบุรี และระยอง ปริมาณการขนส่งก๊าชธรรมชาติรวม 109,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาทและให้บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า โดยโครงการจะให้บริการขนถ่ายก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) ปีละประมาณ 9,000,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 38,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จังหวัดระยอง

20170325_pr05-1

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยให้ส่งเสริมการผลิตทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถโดยสาร ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยีในการผลิต อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ามาตรการที่ออกมาจะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการดังนี้ กิจการผลิต HEV ผู้สนใจขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร กิจการผลิต PHEV จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวมที่ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31ธ.ค. 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี

20170325_pr03 20170325_pr02

กิจการผลิต BEV จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวมที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5–8 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้นจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี

กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม  ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยกิจการนี้ ที่ประชุมเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติ 2 ปี
20170325_pr04

กิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มชิ้นส่วนอีก 10 รายการที่จะให้การส่งเสริม ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีได้แก่ กิจการผลิตแบตเตอรี่ กิจการผลิต Traction Motor กิจการผลิตระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ กิจการผลิตระบบควบคุมการขับขี่ กิจการผลิต On-Board Charger กิจการผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ กิจการผลิต DC/DC Converter กิจการผลิต Inverter กิจการผลิต Portable Electric Vehicle Charger กิจการผลิต Electrical Circuit Breaker กิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ  (EV Smart Charging System) และกิจการผลิตคานหน้า/คานหลังสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า และหากตั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 29 ธ.ค. 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี