รัฐมนตรีพลังงาน คาดสรุปโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ไตรมาส3ปีนี้ เชื่อมีศักยภาพทำได้ตามเป้าหมาย เหตุมีกำลังการผลิตอยู่แล้ว 100 เมกะวัตต์ ทำเพิ่มอีกเพียง 200 เมกะวัตต์เท่านั้น เพื่อรองรับความต้องการในอีก3-5ปีข้างหน้า ผู้สื่อข่าวเปิดมติ กพช.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2558 กำหนดเป้ารับซื้อไว้เพียง36 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเปิดรับซื้อจริงมีผู้เสนอขายไฟฟ้าสูงถึง 547 เมกะวัตต์ โดยหากมีการขยายเป้าหมายการรับซื้อ จะทำให้โครงการดังกล่าวเป็นที่สนใจของภาคเอกชน
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและ นราธิวาส)จำนวน 300 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ ว่า คาดว่าในช่วงไตรมาส3 ของปี2561 นี้ กระทรวงพลังงานจะสามารถสรุปรายละเอียดมาตรการ ได้ โดยจากข้อมูลที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากรศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พบว่ามีโอกาสที่จะผลิตได้ถึง 300 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมาย เนื่องจากมีเศษไม้และวัสดุจากธรรมชาติเพียงพอ
โดยปัจจุบัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 50 เมกะวัตต์แล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 50 เมกะวัตต์ ดังนั้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีกำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 100 เมกะวัตต์ และมาตรการนี้จะเป็นการต่อยอดผลิตเพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ จึงมีความเป็นไปได้มาก
ทั้งนี้ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ดังกล่าวจะทำในรูปแบบ โรงไฟฟ้าประชารัฐแน่นอน โดยมีกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานโรงไฟฟ้าจะมี 3 ฝ่ายร่วมทำด้วยกัน คือ ภาครัฐ เอกชน และชาวบ้าน และจะกระจายกำลังการผลิตไปในพื้นที่ต่างๆของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชื่อว่าจะสามารถผลิตครบตามเป้าหมายเพื่อรองรับความต้องการใช้ใน3-5 ปีข้างหน้าได้
อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนาและเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าด้วย เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ นอกจากนี้ต้องพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ( smart grid) ด้วย
พร้อมกันนี้จะนำ “โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ขนาด 12 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยทำร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) มาขยายผลร่วมกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4 อำเภอในจังหวัดสงขลานั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้ให้ความเห็นชอบให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ยกเว้น โซลาร์เซลล์)แบบ FiT Bidding โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั้งจากก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ประมาณ 600 เมกะวัตต์ และแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รับซื้อตามปริมาณกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวลไม่เกิน 36 เมกะวัตต์
ส่วนระยะที่ 2 การรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา กำหนดเป้าหมายการรับซื้อตามกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 554 เมกะวัตต์
โดยหลังจากนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามมติกพช.ดังกล่าว ซึ่งในส่วนของชีวมวล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) เป้าหมายรับซื้อ 36 เมกะวัตต์ ปรากฎว่า เมื่อปิดรับการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ในช่วงวันที่ 15-30 มิถุนายน 2559 มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 89 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 547 เมกะวัตต์ แต่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค 28 โครงการ รวมปริมาณเสนอขาย 224 เมกะวัตต์
ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา มี 4 โครงการ ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้แก่ บริษัท ทีพีซีเอช พาวเวอร์ 1 จำกัด บริษัท ทีพีซีเอช พาวเวอร์ 2 จำกัด บริษัท รุ่งทิวาไบโอแมส จำกัด และ บริษัท ทีพีซีเอช พาวเวอร์ 5 จำกัด ซึ่งมีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นจำนวน 36 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมาย โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้
ทั้งนี้นโยบายการส่งเสริมชีวมวลในพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้ และอีก4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ให้เพิ่มขึ้น เป็น 300 เมกะวัตต์ ของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น เมื่อดูจากข้อเสนอของเอกชนที่เคยเสนอขายไฟฟ้ามามากถึง547 เมกะวัตต์ นั้น นับว่าเป็นนโยบายที่เอกชนจะให้ความสนใจ เพียงแต่กระทรวงพลังงานจะต้องมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กพช. เพื่อขอขยายเป้าหมายการรับซื้อเดิม จาก 36 เมกะวัตต์ เป็น300 เมกะวัตต์