นิสิตเก่าวิศวะจุฬาฯจัดสัมมนาประเทศไทยกับ EV

0
1246

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำทัพจัดโครงการสัมมนาและนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้า “ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า” ดึงตัวแทนจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและทำความรู้จักยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เผยนโยบายทุกภาคส่วนนำเสนอนวัตกรรม EV ระบบต่างๆ จากผู้ผลิตระดับโลก พร้อมจัดแสดงนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ

20161101_pr01
ศาสตราภิชาน พูลพร แสงบางปลา ประธานจัดโครงการสัมมนาในครั้งนี้กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพัฒนาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้ชูเป็นนโยบายสำคัญและมีแผนที่จะส่งเสริมให้ผลิตให้เร็วๆ นี้ ทำให้ประชาชนสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักรถยนต์ไฟฟ้ามากพอหรือยังมีข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะในประเด็นการใช้งาน การบำรุงรักษา เทคโนโลยี ความปลอดภัย ตลอดจนถึงนโยบายของภาครัฐที่จะออกมาส่งเสริมและรองรับนวัตกรรมยานยนต์ดังกล่าวควบคู่ไปกับการใช้งานของประชาชนและสอดคล้องกับภาคเอกชนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ดังนั้นสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการวิชาการยานยนต์ และคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส จึงเห็นโอกาสที่จะจัดงานสัมมนานี้ขึ้นเพื่อแผยแพร่ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่นิสิตเก่าและผู้สนใจทั่วไป

20161101_pr05

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีแนวทางสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามแผนบูรณาการพลังงานของประเทศ เช่น การร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยในการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจำนวน 100 สถานี ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า การส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะไม่กระทบต่ออุตสากรรมการผลิตรถยนต์ แต่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานได้ถึงปีละ 17,000 ล้านบาท เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่าน้ำมันหลายเท่า โดย สนพ.ได้ตั้งเป้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 1.2 ล้านคันภายในปี 2579

20161101_pr02

นอกจากนั้น สนพ.ยังมีงบประมาณในเรื่องวิจัยมอเตอร์ แบตเตอรี่ และการกำจัดแบตเตอรี่ที่เหลือใช้ โดยในปี 2560 ตั้งงบประมาณไว้ 500 ล้านบาทเพื่อใช้ในการวิจัย EV โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอมาได้ผ่านการพิจารณาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

20161101_pr04

ภายในงานนี้ยังได้เสวนาถึงประเด็นน่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้านจากผู้แทนองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ ประเด็นระบบรถยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์และแบตเตอรี่ ประเด็นสถานีชาร์จไฟและชนิดหัวชาร์จ ประเด็นรถยนต์ไฟฟ้าระบบต่างๆ จากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลก ประเด็นรถยนต์ไฟฟ้าคิดค้นประกอบใหม่ทั้งคันและจากคนไทย และประเด็นรถยนต์ดัดแปลง Retrofit จากเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้าระบบต่างๆ จากผู้ผลิตในตลาดโลก ผู้ผลิตไทย ผู้ดัดแปลงรถจากเครื่องยนต์สันดาปเดิม และต้นแบบสถานีชาร์จไฟภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบใกล้ชิด