กระทรวงพลังงานอนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 200 ล้านบาทให้ 7 มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาวิจัย พัฒนางานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ซึ่งตรงกับความต้องการแก้ปัญหาของพื้นที่นั้นๆ พร้อมอนุมัติเงิน 38 ล้านบาทให้ 7 แม่ข่ายสำรวจศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของแต่ละพื้นที่
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2559 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมี ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเพื่อพิจารณาจัดสรรทุนโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนประจำปี 2559 ที่มีกรอบวงเงิน รวมทั้งสิ้น 450 ล้านบาท
โดยยื่นข้อเสนอที่ สนพ. ซึ่งปีนี้ได้ปรับวิธีจัดสรรทุนโดย 7 มหาวิทยาลัยกับหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันกำหนดโจทย์วิจัยด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนที่ตรงกับความต้องการแก้ปัญหาของพื้นที่นั้นๆ และสนพ. ได้นำมาประกาศเป็นโจทย์วิจัยผ่าน 7 มหาวิทยาลัย คือ ภาคเหนือ-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิจัยเรื่องท่องเที่ยว-ผลไม้-ข้าวโพด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน-มหาวิทยาลัยขอนแก่นวิจัยเรื่องอ้อย-ปศุสัตว์
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วิจัยเรื่องมันสำปะหลัง-ปิโตรเคมี, ภาคกลาง-มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีวิจัยเรื่องสับปะรด-มะพร้าว-ห้องเย็น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิจัยเรื่องข้าว-ไม้โตเร็ว, ภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิจัยเรื่องปาล์มน้ำมัน-ยางพารา-อาหารทะเล และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัยเรื่องนวัตกรรม
ทั้งนี้ ข้อเสนอ 134 โครงการ รวมจำนวนเงิน 588 ล้านบาท มีที่ผ่านการพิจารณารอบสุดท้าย 46 โครงการ รวมจำนวนเงิน 162 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 มิติ คือ
(1) Expanding การปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ 12 โครงการ
(2) New Sources การเตรียมแหล่งพลังงานทางเลือกจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม 14 โครงการ
(3) Management การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 9 โครงการ
(4) Innovation การเกิดนวัตกรรมหรือเทคนิค เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ 11 โครงการ เช่น งานวิจัยต่อยอดเรื่องแก้ปัญหาหมอกควันที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ การนำซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงนั้น จะมีการศึกษาเพื่อขยายผลในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาหมอกควันเช่นกัน และศึกษาเชิงกระบวนการ (Process) ในวิธีเก็บเกี่ยวพร้อมสับย่อยต้นข้าวโพดเพื่อให้สะดวกต่อการนำมาอัดแท่ง (Product) และศึกษาวิธีบริหารจัดการเพื่อให้มีแผนธุรกิจ (Business Model) ของตลาดชีวมวล เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมได้อนุมัติเงินจำนวน 38 ล้านบาทให้ 7 แม่ข่าย สำรวจศักยภาพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของแต่ละพื้นที่แล้วนำข้อมูลมาเข้าระบบฐานข้อมูลเดียวกันเป็น Single Platform จะทำให้การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายงานวิจัยทั้ง Top Down และ Bottom Up ของแต่ละพื้นที่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น