กฟผ. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ กฟผ. เตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ให้สอดรับกับ “10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564” ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ แผนรับมืออ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ และความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ได้มีการร่วมประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ “บูรณาการเชื่อมโยงจัดการน้ำทั่วไทยด้วย 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี’64” โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายการดำเนินงานตามมาตรการฤดูฝน ปี 2564 โดยมีหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 4 ลุ่มน้ำ เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ “10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564” ตามที่ กอนช. เสนอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน ประกอบด้วย 1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2) บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3) ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ10) ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดระยะเวลาฤดูฝน พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน “10 มาตรการรับมือฤดูฝน” ให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด
นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดรับกับมาตรการรับมือสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564 ของ กอนช. ศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ กฟผ. จะดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ตามมาตรการที่ 3, 4 และ 8 โดยจะดำเนินการจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Dynamic Operation Curve) ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ กฟผ. จำนวน 12 แห่ง และจัดทำแผนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำเกินความจุ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนบางลาง โดยมีการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวนและปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสมตลอดช่วงฤดูฝน รวมทั้งการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน อาคารชลศาสตร์ ประตูระบายน้ำและสถานีโทรมาตร ให้มีความพร้อมต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ