GPSC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลังงาน ทุ่ม 1,100 ล้านสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ฯต้นแบบแห่งแรกของไทย เริ่มผลิตปลายปี 63

0
5682

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2563) GPSC ร่วมลงนามสัญญาก่อสร้างฯ กับบริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น ลุยตอกเสาเข็มโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกของไทย ภายในนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง บนพื้นที่ 12 ไร่ ด้วยงบลงทุนรวม 1,100 ล้านบาท สตาร์ทผลิตเฟสแรก 30 MWh คาดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดเชิงพาณิชย์ปลายปี 2563 เน้นบุกตลาดอุตสาหกรรมใหม่ ระยะแรกเน้นจำหน่ายกลุ่มตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า พร้อมแผนเพิ่มกำลังผลิตเป็น 100 MWh รองรับเทรนด์เทคโนโลยีด้านพลังงาน

                 นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. เปิดเผย ว่า GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับ มร.ชาเกฮิสะ มูรากิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด  (Thai Takasago Co., Ltd.)  ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น มูลค่าสัญญาประมาณ  295 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563 นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid 

                “การคัดเลือก ไทยทากาซาโก เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานที่ต้องการใช้ระบบการควบคุมความชื้น หรือ Dry Room เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานยา ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 39 ปี ดังนั้น GPSC จึงเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงานที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะด้าน จะทำให้โรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายชวลิตกล่าว

                สำหรับเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ของโรงงานดังกล่าว โดยในระยะแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งบริษัท มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น  100 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ โดยระยะแรกจะจำหน่ายแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ให้กลุ่มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและ อีวีบัส รวมทั้งใช้เป็น Energy Storage (ES) ให้กลุ่มตึกอาคารสำนักงานในกลุ่ม บมจ.ปตท.ที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป  เพื่อเก็บไฟหรือพลังไว้ใช้ในตอนกลางคืน

                อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวจะพิจารณาสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ในที่ตั้งอื่น กรณีที่ขยายโครงการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Giga Scale) โดยคาดว่าจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (อีอีซี)  รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทชิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ

                “GPSC ในฐานะหนึ่งใน Flagship ของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมพลังงานเพื่อก้าวสู่ธุรกิจอนาคต (S-Curve) ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี  โดยแบตเตอรี่ถือเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์การเป็นผู้พัฒนาระบบ Energy Management Solution Provider ดังนั้น การพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ได้นำเอาเทคโนโลยี Semi Solid ของบริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัท ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค โดยในเบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับ กลุ่ม ปตท. และพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดไปสู่ระดับการเชื่อมโยงการซื้อขายในภูมิภาค (Grid Scale) รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น” นายชวลิตกล่าว

               คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์องค์กร GPSC  กล่าวว่า ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และระบบไมโครกริดจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานที่ติดตั้งระบบนี้เพื่อเก็บไฟสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน  และทำให้พลังงานไฟฟ้ามีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถตอบโจทย์ของประเทศไทยในอนาคต  ที่สำคัญในการพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับร่วมมือหรือได้รับการช่วยเหลือจากนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเท็ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มบริษัท ปตท.

                 สำหรับต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ในช่วงแรกที่ 30 MWh จะอยู่ที่กิโลวัตต์ (KW) ละ 300 เหรียญสหรัฐ  และเมื่อผลิตขนาด 100 MWh  เต็มศักยภาพที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง ต้นทุนการผลิตจะลดเหลือ KW ละ 200 เหรียญสหรัฐ  และหากยอดการผลิตแบตเตอรี่ไปแตะระดับ 2 GWh ต้นทุนการผลิตต่อ 1 KW ก็ลดเหลือเพียง 100 เหรียญสหรัฐเท่านั้น  

ข้อมูลเกี่ยวกับ GPSC

                GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 22.8% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 22.7%  บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 8.9% บจ. ไทยออยล์ พาวเวอร์ (TP)  20.8% และนักลงทุนทั่วไป 24.8%

                GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  โดยปัจจุบัน  มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น  (Equity MW)  รวมประมาณ 5,026 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,876 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง