“อารีพงศ์” วางโรดแม็พ 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว มั่นใจเป็นกลไกสำคัญช่วยเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง สั่งเดินหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ 4,500 ล้าน กระตุ้นผู้ประกอบการเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ด้านส.อ.ท.ผนึกภาครัฐ- เอกชนร่วมหนุนแผนพลังงานใหม่ 21 ปี หวังเป็นอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมไทย
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน (พง.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะประกาศเดินหน้าการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thailand integrated Energy Blueprint : TIEB) โดยขณะนี้ทุกแผน ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) อย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้ง 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) และแผนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และเบื้องต้นเชื่อว่าในปี 2559 นี้ นักธุรกิจนักลงทุนจากในและต่างประเทศจะเกิดความมั่นใจในการวางแผนด้านพลังงานของไทยที่จะเป็นกลไกสำคัญช่วยเสริมศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการสำคัญภายใต้แผนบูรณาการพลังงานฯดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะเร่งเดินหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งอยู่ในแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยเฉพาะการจูงใจด้วยมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน ผ่านรูปแบบเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ(Soft loan) วงเงิน 4,500 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 นี้ จะเริ่มปล่อยงบประมาณสนับสนุนได้ 1,845 ล้านบาท โดยผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานและลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานจะเร่งสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ที่เบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้สำรวจแล้วเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มีการใช้พลังงานสูง และควรมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในธุรกิจอื่นๆ ที่มีการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีอายุเกิน 10 ปี รวมไปถึงกลุ่มอาคารก่อสร้างใหม่ (Building Code) เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่าวงเงินกู้Soft loan ครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดผลประหยัดประมาณ 4,404 ล้านบาทต่อปี (ตลอดระยะเวลาโครงการ) หรือเกิดผลประหยัดพลังงานคิดเทียบเท่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 213 ktoe ต่อปี หรือสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้ถึง 247.6 ล้านลิตร
นายอารีพงศ์กล่าวว่า เพื่อให้แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ มีผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak ในช่วงต้นปี 2559 กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมมาตรการเพื่อลดการใช้พลังงานผ่าน 2 หน่วยงานที่สำคัญจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โครงการรวมพลังงานหาร 2 โครงการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม และโครงการติดฉลากประสิทธิภาพพลังงาน
ทางด้านสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนาวิชาการ Energy Symposium 2015 เรื่อง “แผนพลังงานใหม่ (พ.ศ.2558 – 2579) อนาคตของอุตสาหกรรมไทย” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานได้รับความรู้ ความเข้าใจ ถึงสถานการณ์พลังงานในสภาวการณ์ปัจจุบัน และการนำพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2557 มีปริมาณ 75,804 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 และคิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.8 ล้านล้านบาท โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด และมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3.48% ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศจำกัด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่สูง โดยกระทรวงพลังงานเองได้พยายามเดินหน้านโยบายพลังงานของประเทศ ทั้งในเรื่องจัดหา เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อความเป็นธรรม การผลักดันการใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้ประเทศไทย มีพลังงานใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“เพื่อเป็นการหามาตรการแก้ไขป้องกันการขาดแคลนเชื้อเพลิงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ 21 ปี (พ.ศ. 2558 – 2579) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบในกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศอย่างบูรณาการโดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในระยะยาวและสามารถจัดทำแผนด้านพลังงานด้านต่างๆ ในอนาคตได้”
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตลอดจนราคาด้านพลังงานที่มีความผันผวน และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของแผนพลังงานหลักของประเทศ ตลอดจนแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่าย Smart Grid ของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
“ส.อ.ท. ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการประกอบการของภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการจัดการสัมมนาวิชาการในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน ตลอดจนแนวนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะได้เตรียมความพร้อมและมีการปรับตัวได้ทัน” นายวีรศักดิ์กล่าว