New World Order ภาวะโลกร้อนกำลังกดดันให้โลกก้าวสู่พลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่า

0
31801

“ภาวะโลกร้อน” เรื่องเก่าเล่าใหม่ แต่ในที่สุด เมื่อมาถึง พ.ศ.นี้ ก็กลายเป็น ‘แรงกดดัน’ ระดับนานาชาติที่ถูกผูกเข้ากับผลประโยชน์มหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โลกถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลมายาวนานกว่าศตวรรษ การที่จะจัด ‘ระเบียบโลกใหม่’ นำพาทุกประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้วเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ แต่ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกันทั้งในเรื่องต้นทุนองค์ความรู้ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายทั้งเรื่องแหล่งวัตุดิบ ศักยภาพในการผลิต ทัศนคติของผู้คนในประเทศนั้นๆ ฯลฯ

แค่เรื่องการจัดระเบียบกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการขนส่ง, ยานพาหนะ ซึ่งเป็นต้นเหตุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงระดับต้นๆ ก็คงต้องใช้เวลาถกเถียงกันอีกนานเพื่อตอบคำถามง่ายๆ ว่าระหว่าง รถน้ำมัน กับ รถไฟฟ้า แบบไหนสะอาดกว่ากัน เพราะการเปรียบเทียบข้อมูลรับรองเชิงนิเวศน์ระหว่างรถไฟฟ้ากับรถน้ำมันนั้นไม่ง่ายเหมือนการตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากปลายท่อไอเสีย

ถึงแม้ทุกคนจะยอมรับว่า EV แทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษเลยขณะที่แล่นอยู่บนถนน และแม้ว่างานวิจยใหม่ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยเนเมเกนในเนเธอร์แลนด์ จะอ้างอิงผลการวิเคราะห์ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งหมด รวมถึงกระบวนการผลิต และการผลิตไฟฟ้าสำหรับ EV ซึ่งพบว่าการใช้รถไฟฟ้าจะช่วยให้สภาพภูมิอากาศใน 95% ของโลกดีขึ้น

แต่ก็ยังมีบางคนแย้งว่า CO2 ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของอุตสาหกรรมผลิต EV และในระหว่างการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการชาร์จนั้นก็ยังมากกว่าที่ถูกปล่อยออกมาจากรถน้ำมัน อีกทั้งยังมีตัวเลือกจากพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนได้ดีกว่า ในขณะที่เจ้าของ EV ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซเชื้อเพลิงเพื่อการชาร์จไฟให้กับรถของพวกเขา

เพื่อให้ได้ข้อสรุปเหล่านี้ ทีมศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัย Nijimegen จึงได้แบ่งโลกออกเป็น 59 ภูมิภาค จัดหมวดหมู่ตามแนวทางที่แตกต่างกันในการผลิตพลังงานและระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการปล่อยมลพิษในปัจจุบันและอนาคตของยานพาหนะประเทภต่างๆ ด้วย

ผลการวิจัยพบว่า รถไฟฟ้ามีส่วนในการปล่อยมลพิษโดยรวมต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันใน 53 ภูมิภาคของโลก รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป และประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา และ จีน

นักวิจัยคำนวณว่า การปล่อยมลพิษตลอดอายุการใช้งานเฉลี่ยของรถไฟฟ้าในประเทศสวีเดนและฝรั่งเศส จะต่ำกว่ารถน้ำมันถึง 70% เนื่องจากทั้งสองประเทศนั้นผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนในสหราชอาณาจักร รถไฟฟ้าจะสร้างมลพิษต่ำกว่ารถน้ำมันประมาณ 30%

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยพบว่ามีข้อยกเว้นในบางประเทศ เช่น โปแลนด์ที่มีการเผาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศ

นอกจากยานพาหนะแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษาเปรียบเทียบเครื่องทำความร้อนในครัวเรือน ระหว่างแบบที่ใช้ไฟฟ้ากับที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และพบว่าการใช้เครื่องทำความร้อนแบบไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในพื้นที่ 95% ของโลกด้วยเช่นกัน และถ้าเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้า ทีมนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ภายในปี 2050 เราจะสามารถลดการปล่อย CO2 ทั่วโลกได้มากถึง 0.8 กิกะตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการปล่อยมลภาวะทั้งปีของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

บทสรุปจากงานวิจัยนี้ ทำให้ ดร.ฟลอเรียน น็อบลอช (Dr.Florian Knobloch) หัวหน้าทีมศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย นิจิเมเกน (Nijimegen) ฟันธงว่า “เมื่อคำนึงถึงการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมการผลิต และความต้องการในการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ชัดเจนว่า เราควรสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าในครัวเรือน โดยไม่ต้องลังเลใจเลย”

แล้วคุณล่ะ พร้อมหรือยัง?