Alice พร้อมบิน..ใครจะไปยกมือขึ้น!

0
39346

Eviation บริษัทพัฒนาอากาศยานไฟฟ้าสัญชาติอิสราเอล ซึ่งเผยโฉมเครื่องบินต้นแบบรุ่นแรกชื่อ “Alice” ในงาน Paris Air Show เมื่อปี 2019 เพิ่งออกมาแถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เครื่องบินไฟฟ้า “Alice” ได้พัฒนามาเป็นรุ่นโปรดักชั่น ขนาดบรรทุกผู้โดยสาร 9 ที่นั่ง และมีแผนที่จะทำการทดสอบการบินครั้งแรกภายในปีนี้! และตั้งเป้าให้บริการเดินทางบนถนนอากาศด้วยเส้นทางการบินสั้นๆ ประมาณ 500-1,000 กิโลเมตร (310 ถึง 621 ไมล์) โดยใช้แบตเตอรี่ในตัว (onboard) และเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนขั้นสูงเพื่อให้ครอบคลุมระยะเดินทางประมาณนั้น

จากเครื่องต้นแบบปี 2019 มาจนถึงเวอร์ชั่นล่าสุดที่เผยโฉมเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ Alice ได้รับการออกแบบติดตั้งชุดมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 260 กิโลวัตต์สามชุด ตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายหางและอีกสองตัวอยู่ที่ปลายปีกซ้ายขวา วิวัฒนาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบ V-tail ที่โดดเด่น ด้วยการติดตั้งมอเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตรงส่วนปลายหางที่ออกแบบมาเพื่อเร่งอากาศรอบลำตัวเครื่องบิน และเปลี่ยนลำตัวเครื่องบินให้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของปีกที่ช่วยสร้างแรงยกเพิ่มขึ้น

แต่ล่าสุด  Aviation ได้พัฒนา “Alice” สู่เวอร์ชั่นซึ่งเตรียมเข้าสู่การผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า T-tail และเปลี่ยนจากมอเตอร์ 260-kW สามตัวมาเป็นมอเตอร์ 640kW คู่ใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยติดตั้งไว้ที่ด้านข้างของลำตัวทั้งสองข้าง

Eviation กล่าวว่าการออกแบบขั้นสุดท้ายนี้ได้รับการปรับให้เหมาะสมผ่าน “บทเรียนในโลกแห่งความเป็นจริง” และจากความคิดเห็นของลูกค้า ข้อมูลจำเพาะที่ระบุไว้สำหรับรุ่นที่พร้อมสำหรับการผลิตนี้ จะทำระยะการบินได้ 814 กิโลเมตร  ด้วยความเร็วเดินทาง 407 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความจุน้ำหนักบรรทุก 1,130 กก. (2,500 ปอนด์)  มีพื้นที่สำหรับผู้โดยสารเก้าคน และลูกเรือสองคน

โอเมอร์ บาร์-โยเฮย์  ซีอีโอของ Eviation กล่าวว่า “การบินด้วยเครื่องบินไฟฟ้าจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่ยั่งยืนในธุรกิจการบินระดับภูมิภาคทั่วโลกด้วยราคาที่ไม่แพง และอลิซพร้อมที่จะเปลี่ยนความเป็นไปได้นั้นให้กลายเป็นจริงในไม่ช้า” และ Eviation ยืนยันว่า Alice กำลังจะขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2024 ในฐานะอากาศยานเชิงพาณิชย์ที่ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศโดยสิ้นเชิง!

** ปริมาณการจราจรทางอากาศเชิงพาณิชย์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กว่า 4 พันล้านคนในปี 2017) ทำให้อุตสาหกรรมการบินเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดวิกฤติต่อสิ่งแวดล้อมทั้งมลภาวะทางเสียงและมลพิษจากไอเสีย โดยในปี 2013 การปล่อยมลพิษ CO2 ทั่วโลกจากการบินเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 710 ล้านตัน ปี 2017 ตัวเลขขยับเป็น 860 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 21% ในรอบสี่ปี และเพิ่มขึ้นอีก 5% เป็น 905 ล้านตันในปี 2018 เฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีระบบการจราจรทางอากาศเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหมาไปเจ้าเดียวถึง 202.5 ล้านตัน (23.5 เปอร์เซ็นต์) ของยอดรวม CO2 ทั่วโลก!