ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในผู้มีส่วนขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทยคือ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ซึ่งก่อตั้งเเละเป็นนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ท่านแรก วันนี้มาทราบถึงเเนวทางการดำเนินงานของสมาคมตั้งเเต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ตลอดแนวคิดในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม มุมมองในอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยหลังจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวลง
รศ.ดร.ยศพงษ์กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งเเต่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015) เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนจากภาควิชาการและ ภาคเอกชน ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยใน ช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งตนเองได้มีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้ทางภาครัฐ และเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีนโยบายในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
“มองว่า ณ ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะในฐานะนักวิชาการ เราทราบปัญหาของประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหามลพิษจากการจราจรที่ติดขัด รวมทั้งปัญหา การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือที่รู้จักกันว่าโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ภายในประเทศ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ พร้อมด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้ในอนาคต”
โดยสมาคมหวังว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ ไฟฟ้าของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยั่งยืน ที่มีความต้องการใช้ยานยนต์สมัยใหม่และสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญในระดับโลกได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวภายหลังนำมาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินงานของสมาคมในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง
สมาคมยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลักดันโครงการและกิจกรรมในหลายเรื่อง อาทิ การสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ การทำงานในเชิงวิชาการในเรื่องมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า หรือหลักสูตรในสถาบันการศึกษา การให้ความรู้แก่ประชาชน การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยควบคู่กัน
และที่สำคัญยังได้จัดทำ 8 ข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อภาครัฐในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเเละชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมศักยภาพ เเละพัฒนาบุคลากรไทย ด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งได้จัดพิมพ์ข้อเสนอเหล่านี้ลง EVAT Directory 2020 อีกด้วย ซึ่งทางสมาคมจะยังคงยึดมั่นเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ตามที่ทราบกันดีนั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมก็ได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐตามข้อเสนอดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ต่อข้อถามเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รศ.ดร.ยศพงษ์ตอบว่า ในระยะนี้เศรษฐกิจของประเทศย่อมมีผลกระทบเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และลักษณะของ อุตสาหกรรมยานยนต์มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว ย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งพอเกิดผลกระทบ การฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการลงทุนในช่วงนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องพิจารณาการลงทุน อย่างรอบคอบที่สามารถตอบโจทย์ได้ในระยะยาว กระเเสยานยนต์ไฟฟ้ากำลังจะกลายเป็นกระเเสหลัก ซึ่งเชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมุ่งไปทางยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยเฉพาะหากภาครัฐสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณหรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน หากมีการเเก้ปัญหาไม่ตรงจุดในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมสุดท้ายจะย้อนกลับเป็นปัญหาในระยะยาวได้
สำหรับแนวโนมในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่าเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 พบว่า มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนทั่วประเทศรวมทั้งหมด 171,977 คันแบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) 167,676 คัน และยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) เป็นยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวมี 4,301 คัน ขณะที่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.63 พบว่า มีทั้งหมด 16,290 คัน แบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) 13,214 คัน และยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) 3,076 คัน เเละมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะประมาณ 583 เเห่งทั่วประเทศ
ดังนั้น มองว่าแม้ว่าช่วงนี้จะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผลประกอบการตกต่ำ แต่หากมองในภาพใหญ่และในระยะยาวยานยนต์ไฟฟ้าเป็นคำตอบอย่างแน่นอน ดังนั้นที่เราคิดว่าไกลตัว อาจจะ เริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนเเปลง ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคเอกชนที่ปรับเปลี่ยนเเปลงตัวได้ทันเวลา จะทำให้รอดพ้นวิกฤตและเปลี่ยนเป็นโอกาสในการ เปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และมองว่าในช่วงปี ค.ศ. 2025-2030 ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30 % และแน่นอนในตลาดแห่งการแข่งขัน ผู้ปรับตัวได้ก่อน จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ เเละผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ย่อมอาจจะต้องเป็นผู้ สูญเสียตลาดนี้ไป ขณะเดียวกันเราก็จะพบผู้เล่นใหม่ในตลาดเช่นกัน อีกทั้งในอนาคต ยานยนต์สมัยใหม่จะไม่ได้มีเเค่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เเต่จะมีเรื่องการขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อสื่อสารกับภายนอก เเละเกิดรูปแบบธุรกิจยานยนต์ใหม่ เช่น การเเบ่งปัน (Mobility Sharing ) เรื่องนี้เป็นแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ทั้งหมดแต่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องพร้อมปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้
รศ.ดร.ยศพงษ์กล่าวถึงบทบาทใหม่ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือเรียกว่า MOVE (มูฟ) ว่า เราจะชูวิสัยทัศน์ในการนำ MOVE ให้ก้าวเป็นผู้นำด้านยานยนต์สมัยใหม่ที่ยั่งยืนผ่านการวิจัย นวัตกรรม และการศึกษา ซึ่งมีพันธกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี เเละนวัตกรรมด้านยานยนต์สมัยใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมไปถึงการพัฒนาเเละสร้างห้องปฎิบัติการวิจัยที่ทันสมัยเพื่อรองรับการวิจัยโดยจะช่วยขับเคลื่อน มจธ. สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้เสนอแนวคิด “การขนส่งแบบไร้มลพิษ เพื่อก้าวไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน” โดยการใช้มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ (Test Bed) และแหล่งเรียนรู้และวิจัยในวิถีชีวิต (Living Lab) ซึ่งในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยนี้ได้มีการดำเนินงานร่วมเป็นพันธมิตร ทั้งกับภาครัฐเเละภาคเอกชนหลายภาคส่วน
ในขณะเดียวกันยังไปช่วยในส่วนของงานบริหารมหาวิทยาลัย ด้วยล่าสุด ดร.ยศพงษ์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย มจธ.มีนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนโดยเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและการเป็น Entrepreneruial University และการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงออกสู่สังคม (social change agent) โดยมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การดำเนินงาน การเรียนการสอน การทำวิจัยและนวัตกรรม จนถึงการบริการวิชาการ เพื่อชุมชน และผู้ประกอบการ และมี 5 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนได้แก่
เป้าหมายที่ 1 สร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา
เป้าหมายที่ 2 สร้างผลกระทบจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 3 สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน
เป้าหมายที่ 4 สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายที่ 5 สร้างสรรค์ระบบการบริหารที่ยั่งยืน
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเเละผู้บริหารที่จะต้องเดินหน้าเเละสานต่อไปพร้อมกัน
รศ.ดร.ยศพงษ์กล่าวถึงการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมที่หมดวาระลงในเดือนกรกฎาคมนี้ว่า จากการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยชุดใหม่ ซึ่งปรากฏว่า นายกฤษฎา อุตตโมทย์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมคนใหม่ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเพื่อมารับไม้ต่อจากตนเอง สำหรับมุมมองแล้วถือว่าไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดการทำงานเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าของตนเอง เพราะเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่เป็นสิ่งที่ตนทำมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ก่อนจะเกิดสมาคมหรือมีตำแหน่งใดๆ ซึ่งต่อไปก็ยังคงทำงานในเชิงวิชาการอย่างต่อ เนื่องแน่นนอน นอกจากนี้ก็มีหน้าที่ในกรรมการผู้ทรงคุณวุติในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติยังจะช่วยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย
สำหรับการส่งไม้ต่อให้กรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยชุดใหม่นั้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของสมาคมเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคนผ่านกระบวนการทำงานในรูปแบบคณะทำงานและผ่านการกลั่นกรองและมติของกรรมการสมาคมฯมาโดยตลอด ดังนั้น การดำเนินงานของนายกสมาคมหรือกรรมการใหม่ย่อมต้องสานต่อความต้องการของสมาชิกสมาคมและข้อเสนอ 8 ข้อของสมาคมยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสมาคม
นอกจากนี้ การมีคนใหม่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สมาคมมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาสานต่อการทำงานของสมาคม และการส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยมี การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อมาบรรเทา ปัญหามลพิษของประเทศรวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มั่นคงเเละยั่งยืนต่อไป