
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2562 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัยใน “โครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2559 (Energy Storage)” มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (13 ก.ย. 59-12 ก.ย. 62) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงและภัยพิบัติ พลังงานทดแทน และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดการดำเนินงานมีโครงการวิจัยภายใต้โครงการฯ จำนวน 27 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้างานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย จึงจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลงานขึ้น เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานสู่การใช้ประโยชน์ตามนโยบายพลังงาน 4.0 ต่อไป
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ที่มีประสิทธิภาพสำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน กลุ่มงานค้นคว้าวิจัย ศึกษาเพื่อการพัฒนาและส่งเสริม “โครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2559” ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในเรื่องเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน โดยทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ นำร่องใช้ในงานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ ด้านอุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างฐานพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2559 – 12 กันยายน 2562
โดยคณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน อนุมัติการสนับสนุนโครงการและมีโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ณ ปัจจุบัน จำนวน 27 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน สวทช. จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้างานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย และสร้างโอกาสการต่อยอดนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานสู่การใช้ประโยชน์ตามนโยบาย Energy 4.0
การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยภายใต้ 27 โครงการดังกล่าว
“เนื่องจากระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ใช้ได้นาน ทำให้เกิดเสถียรภาพในระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน ยานพาหนะไฟฟ้าใช้งานได้นานขึ้น รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ยังมีน้อย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถด้านนี้ด้วยการพัฒนาขึ้นมาเอง พร้อมศึกษาจากต่างประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดในอนาคต ซึ่งโครงการฯ มีกรอบงานวิจัย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทย ระยะ 20 ปี กลุ่มที่ 2 การสนับสนุนงานวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานกับนิคมอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และพื้นที่ห่างไกล และกรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานในยานยนต์”
“ขณะที่กลุ่มที่ 3 การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ประกอบด้วย 2 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบงานด้านวัสดุ ระบบการกักเก็บและการศึกษาการใช้เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับการใช้งานเป็นระบบกักเก็บพลังงาน และกรอบงานด้านการควบคุมการทำงาน การนำระบบกักเก็บพลังงานไปใช้งานร่วมกับระบบการใช้และผลิตพลังงานอื่น ๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนา พบกับการบรรยายเรื่อง “Disruption Economy and Energy Storage” โดย คุณสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และการนำเสนอผลงานวิจัย (Flash presentation) ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ของนักวิจัยทั้ง 27 โครงการ รวมถึงการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยภายใต้โครงการฯ ทั้งสิ้น 27 โครงการด้วย