

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลต่อยานยนต์ไฟฟ้าในการเปิดการเสวนาพลังงานทางเลือกในยุค 4.0 เรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้า” ต้องเดินอย่างไร? ว่า รัฐบาลไทยเดินหน้าเตรียมความพร้อมนโยบายและกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฟฟ้า ในประเทศไทยเอาไว้แล้ว โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะแพ็คเก็จการลงทุน คาดว่า จะมาตรการจะร่างเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งรวมถึงแก้ไขเรื่องการจดทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกด้วย เพื่อให้สามารถจดทะเบียนรถไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทย เริ่มต้นส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าแล้ว โดยในปีที่ผ่านมา เริ่มให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรปทำการประกอบในประเทศไทย ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น บางค่ายยังมุ่งให้ความสนใจรถยนต์ไฮบริด ส่วนบางรายให้ความสนใจที่จะลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย แต่โดยภาพรวมแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ยังไม่ต้องการเร่งปรับสายการผลิตรถยนต์ไปสู่รถไฟฟ้าในขณะนี้ และล่าสุดยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใด ยื่นเรื่องขอลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย มีเพียงแสดงความสนใจและเข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น
โดยผู้ผลิตรถยนต์ สัญชาติญี่ปุ่น ยี่ห้อ FOMM น่าจะมีความพร้อมมากที่สุดแต่เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยขณะนี้สามารถหาผู้ร่วมลงทุนในประเทศไทยได้แล้ว ส่วนอีก 2 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนรถผลิตไฟฟ้า เพียงเข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น และยังไม่ยื่นเรื่องลงทุนในไทย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และความต้องการของผู้บริโภคยังไม่พร้อม
“ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียนต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ หากไม่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ที่ขณะนี้เอาใจ เทสล่า โดยซื้อจากรถไฟฟ้าจากเทสล่าเพื่อเอาใจ แต่ถ้าหากต้องการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยรัฐบาลไทยอาจทดลองซื้อมาใช้ แต่รัฐบาลไทยต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์มาประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทยมากกว่า และประเทศไทยไม่มีนโยบายไทย ดูแลบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นพิเศษ” ดร.อรรชกา กล่าว


ขณะที่กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สนับสนุนการลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า จำนวน 100 สถานี ภายใน 3 ปีนับจากนี้ไป
“นโยบายส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เพื่อเพิ่มรายได้ประชากรต่อคนต่อปี จากที่อยู่ในระดับประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ในส่วนภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น”
อ้างอิงที่มาจาก ttp://www.tnamcot.com/content/579244


ทางด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิสัยทัศน์ยานยนต์ไฟฟ้า” ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการสานต่อพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด พระองค์ทรงค้นคว้าทดลองพลังงานทางเลือกมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2517 เพื่อลดผลกระทบการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ก้าวไปสู่การเป็นประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของแม่น้ำ 5 สาย ที่กำลังปฏิรูปประเทศอย่างครอบคลุมทุกด้าน สปท. ในฐานะผู้ผลิตแผนปฏิรูปประเทศ ตระหนักเรื่องพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกเป็นอย่างดี และได้มีการผลิตแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนารถยนต์พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดผลสำเร็จ
นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) ได้มอบของที่ระลึกให้กับ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานในการเปิดงานเสวนาพลังงานทางเลือกในยุค 4.0 เรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้า ต้องเดินหน้าอย่างไร” และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง ซึ่งปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิสัยทัศน์ยานยนต์ไฟฟ้า” รวมทั้งวิทยากรที่ร่วมงานเสวนาทั้ง 5 ท่าน