“อลงกรณ์”ชูเกษตรอัจฉริยะ-Big Data ฝ่าคลื่นดิสรัปต์ หนุนรายได้เกษตรกรเพิ่ม 3 เท่า

0
7441
วิทยากรร่วมเสวนาในภาคเช้า

วันนี้ (25 ตุลาคม 2562) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกียรติเข้าร่วมงานสัมมนา “ทรานส์ฟอร์มเกษตรไทย ฝ่าคลื่นดิสรัปต์ เกษตรอัจฉริยะ ด้วย Big Data” และร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Agritech สู่มิติใหม่เกษตรอัจฉริยะ” โดยมีวิทยาร่วมเสวนา อาทิ ดร.ดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งร่วมบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ เกษตรไทย 4.0 ฝ่าคลื่นดิสรัปต์ สู่โอกาสใหม่”  จัดโดย  Business Today,  บริษัท มีเดีย เอกซ์เพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) และพันธมิตร  ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น  5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

          นายอลงกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคใหม่ภายใน 6 ดือนข้างหน้าภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพลิกโฉมกระทรวงเกษตรฯ ให้ทันสมัยที่สุดอีกหนึ่งกระทรวงในประเทศไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับขีดความสามรถ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพที่สูงอยู่แล้วในด้านการเกษตร และเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับภาคเกษตร จะช่วยทำให้ภาคเกษตรไทยก้าวหน้าได้ โดยใช้โมเดลเกษตรโอลิมปิก ที่จะมี 5 นโยบายหลักดังนี้

          1.นโยบายเทคโนโลยีเกษตร จะช่วยยกระดับกระทรวงเกษตรฯ ภายใน 6 เดือน ด้วยการสร้างบิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นจะต้องสามรถนำไปใช้กับภาคเกษตรกรได้จริงด้วย นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องมีพันธมิตรในส่วนต่าง ๆ สำหรับช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยในครั้งนี้ด้วย

          2.ตลาดการเกษตร ต้องดูว่าตลาดมีความใหญ่มากแค่ไหน ราคาค้าปลีกในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร การขนส่งเป็นอย่างไร ต้นทุนเท่าไร ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีข้อมูลและเลือกตลาดที่ถูกกับผลิตภัณฑ์ด้วย

          3.ประกันรายได้การเกษตร ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นหลักคิดที่ดีในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ที่ผ่านมาเกษตรกรยังเป็นหนี้จากราคาพืชผลที่ตกต่ำ แต่หากมีการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิดที่เกษตรกรปลูกจะทำให้เกษตรกรในประเทศมีกำไรจากการขายผลผลิต และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอีกด้วย

          4.เกษตรปลอดภัย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรกรไทย ที่สำคัญคือการทำเกษตรอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง

          5.เศรษฐกิจการเกษตร เมื่อเรามีกองกำลังประกันรายได้จะเป็นเรื่องที่ดีของภาคเกษตรและเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รวมไปถึงการบริหารจัดการภายในฟาร์มต่าง ๆ ที่ทันสมัยขึ้น อาทิ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ จะช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยให้ยั่งยืน

          ทั้งนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพาภาคเกษตรไทยก้าวข้ามระบบอานาลอกไปสู่ระบบดิจิทัลให้ได้ และเมื่อการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนการจะไปสู่มิติใหม่หรือยุคดิจิทัลนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวความคิดใหม่ของภาคเกษตรด้วย

          “ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีรายได้ 6 พันเหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ต่ำมากหากเทียบกับการเป็นประเทศผู้นำด้านการเกษตร ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างน้อย 3 เท่า โดยรายได้ต้องไปถึง 1.5 หมื่นเหรียญต่อคนต่อปี ภายในไม่เกิน 20 ปี แต่ในยุคดิสรัปชันสามารถทำให้เกิดขึ้นเร็วกว่านั้นได้” นายอลงกรณ์กล่าว

นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ (ขวาสุด) ประธาน AEITF เข้าร่วมงานเสวนา