กฟผ. ร่วมสนับสนุนการจัดงานประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 สู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ปี 2065 พร้อมร่วมโชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด Hydro-Floating Solar Hybrid, Carbon Capture, Hydrogen และ EV ในงาน SETA 2022, SOLAR+STORAGE ASIA 2022 และ Enlit Asia 2022 ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายนนี้ ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมพิธีเปิดงาน SETA 2022, SOLAR+STORAGE ASIA 2022 และ Enlit Asia 2022 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ภาครัฐ และเอกชนด้านพลังงานกว่า 200 แห่งทั่วโลก ร่วมจัดแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดการเติบโตทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) รวมถึงเปิดตัวนวัตกรรมในการจัดเก็บพลังงาน มุ่งสร้างสมดุลแห่งการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชม. อีกทั้งยังมีเวทีเสวนาร่วมถกประเด็นด้านพลังงานตลอดทั้ง 3 วัน ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน 2565
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานครั้งนี้เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 โดยได้เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมทั้งศึกษาเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ อาทิ Hydro-Floating Solar Hybrid การผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ ควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ร่วมกับการพยากรณ์อากาศ โดยนำร่องแห่งแรกแล้วที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 MW ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และอยู่ระหว่างดำเนินการที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 24 MW โดยเพิ่มแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการศึกษา Carbon capture การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากไอเสียของโรงไฟฟ้า โดยมีแผนนำร่องที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง อีกทั้งยังศึกษาการนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการดักจับไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต
อีกทั้ง ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการผสมผสานไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันก๊าซ (Gas turbine) ในโรงไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิต Green Hydrogen เพื่อผลิตไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เร่งการเติบโตของธุรกิจ EV เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ในภาคขนส่ง ด้วยการเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT โดยร่วมลงทุนและสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรต่าง ๆ แล้วกว่า 70 สถานีและตั้งเป้าที่จะขยายสถานีให้มีจำนวนรวมมากกว่า 100 สถานีภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งพัฒนา Digital Platform หรือ Application EleXA สำหรับค้นหาสถานี สั่งชาร์จ และชำระค่าบริการ รวมถึงศึกษาแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่จากรถ EV ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมพร้อมเรื่อง Repurpose Battery และ Recycle Battery อีกด้วย
ในงานดังกล่าวมีพิธีมอบรางวัล Executive Energy Award ซึ่งในปีนี้ กฟผ. ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลองค์กรยอดเยี่ยมที่ขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และรางวัล Renewable Energy & Sustainability ด้วย นอกจากนี้ ภายในงาน กฟผ. ยังได้ร่วมอภิปรายบนเวทีเสวนา ร่วมกับผู้นำทางด้านพลังงานไฟฟ้าของกลุ่มประเทศอาเซียน ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน อาทิ CEO Energy Forum “ASEAN Leaders’ Panel: Net Zero: Establishing a Realistic ASEAN Roadmap”, Clean Energy Revolution “EGAT Insights: Hydro-Floating Solar Project Development in Thailand & Lessons for ASEAN”, หัวข้อ “SMR Technology for Carbon Neutrality, Security and Sustainable Energy of Thailand”, หัวข้อ “บทบาทและแนวทางการขับเคลื่อนแผนนโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย” ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยและประเทศทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 ได้อย่างยั่งยืน