คณะกรรมาธิการที่ดิน ฯ ลงพื้นที่ อ.แม่เมาะ รับฟังปัญหาพร้อมเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินราษฎรอพยพ พบ กฟผ. ได้มีการส่งคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้หน่วยงานราชการได้นำไปจัดสรรเพื่อการอพยพ ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ด้าน ผวจ.ลำปาง สั่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ร่วมประชุมและรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงรองรับการอพยพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะและผลกระทบจากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า เหมืองถ่านหินลิกไนต์ และเหมืองแร่หินปูน โดยมี นายจำลักษ์ กันเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปาง นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมให้ข้อมูล รวมถึงภาคประชาชน นำโดย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ และประชาชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมติดตามการประชุมบริเวณเต็นท์รับรอง ผ่านการถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านกล้อง CCTV จากห้องประชุม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการ เดินทางลงพื้นที่บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ต.แม่เมาะ และบ้านใหม่ฉลองราช หมู่ที่ 8 ต.สบป้าด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565
นายอภิชาต ศิริสุนทร เปิดเผยถึง การลงพื้นที่รับฟังปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทำให้ทราบว่า กฟผ. ได้มีการส่งคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (พื้นที่บ้านใหม่ฉลองราช) ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้หน่วยงานราชการได้นำไปจัดสรรเพื่อการอพยพตั้งแต่ปี 2550 ดังนั้น กฟผ. จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าแล้ว ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จึงได้เร่งดำเนินการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิพื้นที่รองรับการอพยพบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ต.แม่เมาะ และบ้านใหม่ฉลองราช หมู่ที่ 8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีการลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฟผ. รวมถึงตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน มีอำนาจหน้าที่ติดตามและเร่งรัดผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้จังหวัดทราบทุก 2 เดือน
“สำหรับความคืบหน้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เร่งดำเนินการรังวัดขอบเขตพื้นที่อพยพพร้อมเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นจะส่งเรื่องไปยัง ทส. เพื่อพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ป่า และทางกรรมาธิการ ฯ ชุดนี้จะติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากยังไม่มีความก้าวหน้า จะทำหนังสือเชิญปลัด ทส และปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เข้ามาชี้แจงต่อไป” นายอภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวเพิ่มเติม
นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้แทน กฟผ. กล่าวว่า การอพยพราษฎรมีการดำเนินการมาเป็นลำดับ ซึ่งมติ ครม. ของการอพยพแต่ละครั้งก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด วิธีการปฏิบัติก็จะแตกต่างกัน โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การอพยพครั้งที่ 6 เมื่อปี 2549 นั้น ระบุว่า “รัฐจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่รองรับการอพยพให้” กฟผ. จึงส่งคืนพื้นที่ป่า ที่ได้รับการอนุญาตใช้ประโยชน์คืนให้กับกรมป่าไม้ เพื่อให้ทางรัฐนำไปจัดสรรให้กับราษฎรผู้อพยพ มีผลโดยสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ดังนั้น ประเด็นข้อกังวลเรื่อง กฟผ. หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับป่าไม้ในเดือนสิงหาคม 2565 แล้ว ชาวบ้านจะถือว่ารุกป่านั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นที่ดินที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้เพื่อการอพยพอยู่แล้ว
พร้อมทั้งยังมีข้อกังวลของประชาชน ด้านการดูแลป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของ กฟผ. โดยก่อนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า และการทำเหมืองแม่เมาะ กฟผ. จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นชาว แม่เมาะ เกี่ยวกับข้อคิดเห็นและสอบถามข้อห่วงกังวลของโครงการ รวมทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และประเด็นห่วงกังวลมากำหนดเป็นมาตรการเพิ่มเติมในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA และ EIA เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมทั้ง กฟผ.ยังมีช่องทางให้กับประชาชนได้มีโอกาสร้องเรียน เพื่อนำข้อเรียกร้องดังกล่าวมาแก้ไขร่วมกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ในแต่ละปีจะมีการจัดสรรงบประมาณ ทั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีละกว่า 300 ล้านบาท จัดสรรให้ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดงบประมาณของ กฟผ. ที่สนับสนุนชุมชนทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชน ตำบลละ 5 ล้านบาท ดำเนินการตามที่ได้ทำข้อตกลงกันทุกปี