พิษราคาน้ำมันตกต่ำส่งผลให้ “เชฟรอน” ปรับโครงสร้างองค์กรลดต้นทุนปีนี้ตั้งเป้าลดต้นทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ต้องปลดคนงาน ซึ่งเป็นคนไทยจากเชฟรอนและผู้รับเหมา 800 คนเริ่ม 1 ส.ค.นี้ ขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเจรจา 10 ผู้รับสัมปทานขอให้รักษาคนงานคนไทยให้มากสุด จับตา 18 พ.ค.คณะกรรมการปิโตรเลียมนัดถกแผนจัดการแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุเชฟรอน-บงกช
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยภายหลังได้เข้าพบนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน โดยรายงานถึงแผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนตามนโยบายบริษัทแม่ที่ให้ดำเนินการทั่วโลกภายหลังจากที่ภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกตกต่ำซึ่งในปี 2559 เชฟรอนประเทศไทยมีเป้าหมายจะลดต้นทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17,500 ล้านบาท และแผนดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องลดต้นทุนด้วยการปรับลดบุคลากรของบริษัทลงอีก 20% หรือคิดเป็นประมาณ 800 คนจากพนักงานเชฟรอน และพนักงานบริษัทผู้รับเหมาส่วนของคนไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้
“เป้าหมายลดคนไทย 800 คนนั้นจะมาจากของเชฟรอนที่มี 2,200 คน และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาคนไทยประมาณ 1,700 คน โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ปรับลดพนักงานชาวต่างชาติไปก่อนแล้วกว่า 50% หรือราว 100 กว่าคน และผู้รับเหมาที่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อที่ปรับโครงสร้างธรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาวโดยไม่มีแผนที่จะขายธุรกิจในไทยแต่อย่างใด และการปรับลดพนักงานจะให้ผลตอบแทนที่เป็นไปตามกฎหมาย” นายไพโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรชองเชฟรอนนับเป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับโครงสร้างจากบริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด มาเป็นเชฟรอนในปี 2548 อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบแหล่งสัมปทานเอราวัณของเชฟรอนในอ่าวไทยที่จะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานปี 2565 โดยในเรื่องนี้ทางบริษัทฯ ได้เสนอความคิดเห็นทั้งหมดไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว ขณะนี้รอเพียงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร โดยทุกอย่างควรจะเจรจายุติได้ภายในต้นปี 2560 เพื่อที่ทางบริษัทจะได้วางแผนการลงทุนในการรักษากำลังผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ให้บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยประมาณ 10 รายจัดทำแผนบริหารงาน 5 ปีมาเสนอเพื่อจะได้รับทราบการดำเนินงานรวมถึงแผนปรับโครงสร้างธุรกิจช่วงน้ำมันขาลงซึ่งทางกรมฯ ก็พยายามให้รักษาพนักงานไว้โดยเฉพาะคนไทย เพราะหากระดับราคาน้ำมันขึ้นมาก็จะสามารถผลิตได้ต่อเนื่องทันที รวมถึงเชฟรอนด้วย แต่ทั้งนี้บริษัทต่างชาติก็ต้องดำเนินงานตามบริษัทแม่
“ระดับราคาน้ำมันที่ตกต่ำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ย่อมได้รับผลกระทบในการดำเนินงาน ขณะนี้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มขยับเพิ่มขึ้นจึงเชื่อว่าน่าจะมีสัญญาณที่จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ชะลอแผนปลดคนลงได้ไม่มากก็น้อย” นางบุญบันดาลกล่าว
ทั้งนี้ วันที่ 18 พ.ค.นี้จะมีประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะประชุม เรื่องการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งเชฟรอนและบงกชในปี 2565 และ 2566 ซึ่งจะมีการเสนอความเห็นการดำเนินการ ทั้งรูปแบบการเจรจา/จ้างผลิตและเปิดประมูล หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ จากนั้นจะเริ่มขบวนการตามแนวทาง กพช.เห็นชอบภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนผลิตในการรักษากำลังผลิตทั้งสองแหล่งต่อ ไม่กระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/