กฟผ.เร่งแผนโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ500MW

0
2779

กฟผ.เร่งแผนโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 500 เมกะวัตต์ เพื่อเสนอให้รวมอยู่ในแผนพัฒนาพีดีพีที่จะมีการปรับปรุงใหม่  โดยเตรียมนำร่องใน 3 พื้นที่คือ ที่วังน้อย  โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2561 นี้ 


20170322_pr01

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า แผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าร์เซลล์) แบบทุ่นลอยน้ำ  500 เมกะวัตต์ จะถูกนำเสนอรวมอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะเสนอกลับไปให้   พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาอีกครั้งในอีก 1-2 เดือนนี้  จากเดิมที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค.2559 ที่ผ่านมา แต่ทางกระทรวงพลังงานให้ กฟผ.กลับมาจัดทำแผนในรายละเอียดเพิ่มเติม  เพื่อให้กระทวงพลังงานพิจารณาบรรจุแผนดังกล่าวรวมอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ เมื่อมีการปรับปรุงแผนหรือจัดทำแผนพีดีพีประเทศใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้เดิม กฟผ.มีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนอยู่แล้ว 500 เมกะวัตต์  ซึ่งบรรจุอยู่ใน PDP2015 อยู่แล้ว แต่มีการนำมาทบทวนใหม่เพื่อเพิ่มการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก1,500 เมกะวัตต์  โดยจะมุ่งพัฒนาไปที่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์  และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซล) แบบทุ่นลอยน้ำอีก 500 เมกะวัตต์   โดยหากได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน จะทำให้กฟผ.มีกำลังการผลิตในส่วนของพลังงานทดแทนรวม 2,000 เมกะวัตต์

20170322_pr05

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กฟผ. ได้เตรียมนำร่องโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำขนาด 2 เมกะวัตต์​  ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดในไทยขณะนี้ ใน 3 พื้นที่คือ คือโรงไฟฟ้าวังน้อยเป็นแห่งแรกในปี 2561 และทยอยซีโอดีในอีก 2 แห่งที่เหลือคือบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้ากระบี่  ต่อเนื่องไป ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนแห่งละ ประมาณ 140 ล้านบาท หากโครงการนำร่องดังกล่าวประสบผลสำเร็จ  กฟผ.จึงจะขยายขนาดพื้นที่และกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในเขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ต่อไป โดยเฉพาะที่เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนภูมิพล ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมปริมาณไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ทำการวิจัยโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำร่วมกับระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำ ขนาด 30.24 กิโลวัตต์ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2558 แต่พบว่าทุ่นที่เป็นโฟมลอยน้ำของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าตลาดต่างประเทศ ดังนั้นหาก กฟผ.จะทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในพื้นที่ใหม่ คาดว่าจะใช้วิธีซื้อวัสดุโดยเฉพาะทุ่นลอยน้ำจากต่างประเทศแทน

20170322_pr021

สำหรับโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ  นอกจากจะช่วยผลิตไฟฟ้าเพื่อลดยอดการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม เพราะตั้งอยู่บนผิวน้ำ ป้องกันการระเหยของน้ำได้ ซึ่งเหมาะสมกว่าตั้งบนพื้นดินซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร

ข้อมูลจากกฟผ.ระบุถึงแผนเดิมที่ กฟผ.จะมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทน จำนวนประมาณ 513 เมกะวัตต์ นั้นแบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 171 เมกะวัตต์ ตามด้วยพลังงานลม 168 เมกะวัตต์  พลังน้ำขนาดเล็ก 116 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ  58 เมกะวัตต์  ส่วนแผนใหม่ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์นั้นจะหันมาเน้นการลงทุนในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass) จำนวน 1,032 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 486 เมกะวัตต์ พลังงานลม 307  เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 125 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากขยะ 43 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์